ความเป็นมาจังหวัดสุรินทร์
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ ว่าพื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ชุมชนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงเมืองสุรินทร์ได้ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าดงอยู่นานจนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย พ.ศ. 2260 ชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าส่วยหรือกูย ซึ่งอาศัยอยู่แถบเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ซึ่งขณะนั้นเป็น ดินแดนของไทย และเป็น ผู้ที่มีความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งานเป็นอย่างมากได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขง มาสู่ฝั่งขวาโดย ได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนที่เมืองลีง (อำเภอจอมพระ) บ้านโคกลำดวน(อำเภอขุขันธ์จังหวัดศรีสะเกษ) บ้านอัจจะปะนึ่ง(อำเภอสังขะ) และบ้าน กุดปะไท (อำเภอศีขรภูมิ) แต่ละ บ้านจะมี หัวหน้าควบคุมอยู่ ในปี พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทรภักดี หรือเชียงปุมหัวหน้าหมู่บ้านเมืองทีได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองทีมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2ชั้นมีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดีได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านคูประทาย เป็นเมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทรภักดีเป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์เจ้าเมือง เมืองสุรินทร์มีเจ้าเมืองปกครองสืบเชื้อสายกันมารวม 11 คน จนถึงปี พ.ศ. 2451 ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นแบบเทศาภิบาลส่วนกลาง จึงได้แต่งตั้งพระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) มาดำรงตำแหน่งเป็น ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแรก